8 สิ่งควรทำ! เมื่อคิดแต่งห้องเพื่อ ผู้สูงอายุ ให้อยู่สบายและปลอดภัย
บ้านพักคนชราไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เมื่อเทรนด์สังคมไทยเริ่มเปลี่ยน จากข้อมูลที่มีการคาดการณ์ว่า ปัจจุบันมีจำนวน ผู้สูงอายุ 11.2 ล้านคน หรือประมาณ 17.1% และคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีคือ 2565 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 13.6 ล้านคนหรือประมาณ 20.6% ซึ่งถือว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราจะเตรียมพร้อมที่อยู่อาศัยสำหรับวัยเกษียณอย่างไร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและไม่เหงา ลองมาดูไอเดีย และสไตล์การตกแต่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ จากเมืองแนวคิดใหม่เพื่อวัยเกษียณ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เพื่อนำไปปรับใช้ดูแลผู้ใหญ่ในครอบครัวของเราให้มีคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัยมากขึ้นกันค่ะ
1.ความฝืดของพื้น หากเป็นพื้นไม้ ก็ไม่ควรจะขัดให้มันวาว เพราะเสี่ยงต่อการลื่นล้ม ปัจจุบันมีน้ำยาลดความวาวและความลื่นใช้ได้ทั้งแบบฉีดและทาตามวิธีการใช้งานข้างภาชนะบรรจุ หากต้องการปูพื้นด้วยกระเบื้องก็ควรเลือกปูกระเบื้องชนิดที่กันลื่นได้ อย่าง กระเบื้องยางเกรด R9 ขึ้นไป หากเป็นพื้นที่เปียกเสี่ยงต่อการลื่นล้มได้ง่าย ก็ควรเลือก กระเบื้องยางเกรด R 12 สำหรับพื้นที่เปียกอย่างห้องน้ำ ห้องครัว แต่หากต้องการปูพรมก็ควรติดขอบหรือมุมของพรมให้แน่น ไม่นูนหรือเผยอขึ้นมาอันจะทำให้สะดุดล้มได้
2.ติดตั้งราวจับ ควรต้องติดราวจับในระดับ 80 – 90 เซนติเมตร ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงโถส้วมหรือจุดอาบน้ำ เพื่อให้ยึดจับแทนการไปจับอุปกรณ์สุขภัณฑ์ต่างๆ เช่น อ่างล้างหน้า ราวแขนผ้า ที่ใส่สบู่ หรือโถส้วม เพราะสุขภัณฑ์เหล่านี้อาจหลุดออกมาและเป็นอันตรายได้ โดยตัวราวจับและสกรูยึดติดผนัง ก็ควรที่จะต้องรับน้ำหนักเหนี่ยวตัวลุกยืนได้สูงเช่นกัน
3. เลี่ยงพื้นต่างระดับ ควรทำทางลาดควบคู่กันไปในทุกตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนระดับ ความลาดชันของทางลาดต้องไม่เกิน 1 : 12 หมายความว่า หากพื้นต่างระดับ 1 เมตร ต้องมีทางลาดยาว 12 เมตร เป็นต้น เพราะร่างกายผู้สูงอายุไม่อำนวยต่อการยกเท้าเดิน หรือ กะจังหวะย่างเท้าให้พอดีได้อย่างคนรุ่นหนุ่มสาว
4.ความสูงของเฟอร์นิเจอร์ ผู้สูงอายุบางท่านอาจจะจำเป็นต้องใช้รถเข็นในบางกรณี ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์อย่าง โต๊ะ ก็ต้องลดระดับลงมาจากความสูงของโต๊ะปกติเล็กน้อย หน้าโต๊ะควรสูงประมาณ 75 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่ใต้โต๊ะควรมีความสูงไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ไม่ควรมีลิ้นชัก และมีความลึกมากกว่า 40 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข็นรถเข้าไปใช้งานได้สะดวกนั่นเอง ส่วนเตียงนอนควรสูงประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้พอดีกับสรีระ การลุก – นั่ง ที่พอดีต่อการใช้งาน
5.สิ่งอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย ยุคก่อนมักใช้กระดิ่ง หรือ กริ่งออด ติดตั้งตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน อย่าง ตามหัวเตียง ห้องน้ำ หากแต่ในยุคเทคโนโลยี 4.0 นี้ ก็มีระบบแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่อผ่านสมาร์ทโฟนรองรับการใช้งานให้ง่ายดายสะดวกสบายขึ้น โดยอาจเป็นเพียงสายรัดข้อมือที่จะส่งระบบคำเตือนไปยังผู้ดูแลเมื่อมีสัญญาณว่า ผู้สูงอายุอาจล้ม หรือ ได้รับอุบัติเหตุได้ เพื่อการเข้ามาดูแลปฐมพยาบาลได้ทันถ่วงที
6. แสงสว่างที่ไม่จ้าเกินไป ผู้สูงอายุมักไม่ชอบแสงสว่างที่จ้าเกินไป เพราะผู้สูงอายุนั้นจะมีสายตาที่ตอบรับกับแสงสว่างช้ากว่าคนหนุ่มสาว ดังนั้นควรตกแต่งห้องให้ใช้แสงสว่างจากธรรมชาติให้มากที่สุด และติดตั้งหลอดไฟที่มีแสงนวลตา อย่างแสงสีส้ม หรือ สีโทนเหลือง เพื่อถนอมสายตาผู้สูงอายุ เป็นต้น
7. ขนาดประตูที่กว้างกว่าปกติ สำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุ บานประตูต้องกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อให้รถเข็นหรือเตียงเข็นเข้า – ออกได้สะดวก
8. ปุ่มสวิตช์ไฟขนาดใหญ่ ปุ่มสวิตช์ไฟควรมีขนาดใหญ่เพื่อให้เห็นง่ายชัดเจน และควรอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
และเนื่องจากโครงการนี้สร้างขึ้นเพื่อรองรับ ผู้สูงอายุ วัยเกษียณ เป็นหลัก ดังนั้น ด้านการออกแบบอาคาร การตกแต่งภายใน รวมไปถึงการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของที่นี่จึงคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก แต่อย่างไรก็ดี นอกจากการดูแลสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยทางด้านกายภาพให้มีความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว การดูแลทางด้านสุขภาพจิตใจให้ดีตามก็เป็นสิ่งสำคัญ การได้เข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง มีกิจกรรมต่างๆ ให้ได้ทำ จะทำให้ผู้สูงอายุวัยเกษียณเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกตนเองมีคุณค่า มีความหมาย และห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าได้ด้วยเช่นกันค่ะ
สถานที่ถ่ายทำ : ห้องตัวอย่างโครงการ Jin Wellbeing County
No comments:
Post a Comment