จังหวัดสงขลา
จังหวัดสงขลาเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่มีพื้นที่อยู่ทางภาคใต้ ของประเทศไทย จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่26 ของจังหวัดทั้งหมดในประเทศไทย โดยมีพื้นที่มากกว่า7,393.889 ตารางกิโลเมตร
จังหวัดสงขลา
คำขวัญประจำจังหวัด: นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้
ที่ตั้ง จังหวัดสงขลาตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตอนล่างระหว่างละติจูดที่617-756 เหนือ ลองจิจูด100 01-101 06 ตะวันออกสูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย4 เมตรอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามเส้นทางรถไฟ947 กิโลเมตร และทางหลวงแผ่นดิน 950 กิโลเมตร
จังหวัดสงขลามีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี รัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิสของประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล
สถานที่ท่องเที่ยวฮิตในสงขลา
สะพานติณสูลานนท์
สะพานติณสูลานนท์เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยมีความยาวถึง2.6 กม. สะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข4146 ซึ่งเชื่อมทางหลวงหมายเลข407 (หาดใหญ่-สงขลา) กับทางหลวงหมายเลข4083 (สงขลา-ระโนด) โดยมีจุดเริ่มต้นพื้นที่บ้านน้ำกระจาย ผ่านมายังเกาะยอ เชื่อมต่อไปยังเขาน้อยบนอีกฝั่งของแผ่นดิน สะพานติณสูลานนท์ประกอบด้วย2 ส่วน โดยส่วนแรกอยู่ที่บ้านน้ำกระจาย เชื่อม อ.เมืองสงขลาเข้ากับชายฝั่งด้านทิศใต้ของเกาะยอ มีความยาว940 เมตร ส่วนที่สองเชื่อมชายฝั่งทางทิศเหนือของเกาะยอดเข้ากับบ้านเขาน้อย โดยส่วนนี้มีความยาว1,700 เมตร
เกาะยอ
เกาะยอเป็นเกาะเล็กๆในทะเลสาบสงขลา โดยห่างจาก อ.เมืองสงขลา10 กม. และห่างจาก อ.หาดใหญ่20 กม. การเดินทางเข้ามายังเกาะยอสามารถทำได้โดยข้ามสะพานติณสูลานนท์ เสน่ห์ของเกาะยอคือความสวยงามของพรรณไม้ ผ้าทอเกาะยอ รวมทั้งมีวัดเก่าแก่2 แห่งคือ วัดเขาบ่อ และวัดท้ายยอ
หาดสมิหลา
หาดสมิหลาเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ หาดสมิหลาตั้งอยู่ใน อ.เมืองสงขลา โดยมีลักษณะเป็นหาดทรายขาว อยู่ภายใต้ร่มเงาของป่าสน ตลอดชายฝั่ง หาดสมิหลาอยู่ห่างจากตลาดเทศบาลเป็นระยะ2.5 กม. จากแหลมสมิหลา เราสามารถมองเห็นแหลมสนอ่อนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และหาดชลาทัศน์ทางทิศไต้ ในวันที่อากาศแจ่มใส เราอาจมองเห็นไปถึงเขาเก้าเส้ง สิ่งที่เป็นจุดดึงดูดของหาดสมิหลาคือรูปปั้นนางเงือก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดสงขลาด้วย
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา
เมืองสงขลาเป็นเมืองที่เงียบสงบ ชาวเมืองมีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย ต่างจากหาดใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของจังหวัด มีตึกเก่าโบราณที่ยังคงความสมบูรณ์สร้างแบบชิโน-โปรตุกีส ตามถนนนครใน นครนอก นางงาม และยะลา มีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา เป็นอาคารแบบจีน ตั้งอยู่ที่ถนนนางงาม สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสร้างเมืองสงขลา และที่ถนนนางงาม ยังเป็นแหล่งอาหารพื้นเมืองและขนมไทย ๆ ฝีมือชาวบ้านให้เลือกซื้อหาเป็นของฝาก เช่น ขนมสัมปะนี ทองม้วน ทองพลับ หรือเต้าฮวยที่ขายมากว่า50 ปี ที่ตรงข้ามศาลหลักเมือง และยังมีข้าวตู ฝีมือดั้งเดิมให้ได้ลิ้มลองอีกด้วย
ตลาดน้ำคลองแห
ตั้งอยู่ที่ท่าน้ำวัดคลองแห ตำบลคลองแห นอกตัวเมืองหาดใหญ่ไปเล็กน้อย เป็นตลาดน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวของภาคใต้ แม้เป็นตลาดน้ำเกิดใหม่ แต่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีอาหารพื้นบ้านหลากหลายทั้งอาหารไทย มุสลิม รวมทั้งผลไม้ และสินค้าพื้นเมืองนานาชนิด มีเรือพายนับร้อยลำพายมาจอดเรียงรายให้บริการริมท่าน้ำวัดคลองแหอย่างเป็นระเบียบ และมีร้านค้าที่ริมฝั่งมากมายให้เดินเลือกชมอย่างเพลิดเพลิน เปิดตลาดในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลาประมาณ16.00 – 10.00 น. ท่านสามารถซื้อหาของฝากกลับบ้านหรือจะนั่งรับประทานที่ตลาดน้ำตามสะดวก โดยทางตลาดน้ำได้รณรงค์ให้ใช้ภาชนะใส่อาหารจำพวก กะลา กระบอกไม่ใผ่ หม้อดินเผา ที่ไม่เป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อม
เขาเก้าเส้ง
ห่างจากหาดสมิหลาประมาณ3 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางไปสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งแห่งชาติ มีตำนานเล่าถึงเขาเก้าเส้ง หรือที่เรียกกันในภาษาพื้นเมืองว่า“หัวนายแรง” ว่า “ครั้งนั้นทางเมืองนครศรีธรรมราชกำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา12 หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างก็นำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย ประกอบกับนายแรงมีความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมากถึงเก้าแสนบรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งหาดทรายแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง สั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขา นายแรงกลั้นใจตาย ลูกเรือต้องจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า “เขาเก้าแสน” เรียกเพี้ยนไปเป็น “เก้าเส้ง”ก้อนหินที่ปิดทับบนยอดเขาเรียกว่า“หัวนายแรง” ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญานของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้”
ตลาดกิมหยง
ตลาดแห่งนี้เป็นเสมือนเอกลักษณ์หนึ่งของอำเภอหาดใหญ่ เป็นตลาดเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองหาดใหญ่มาแต่ครั้งก่อตั้งเมือง และมีความหลากหลายของสินค้านานาชนิดทั้งอาหารการกิน ของสด ของแห้ง ขนมจากต่างแดนในราคาปลอดภาษี อีกทั้งยังตั้งอยู่ใจกลางเมืองหาดใหญ่ จึงทำให้ตลาดกิมหยงกลายเป็นหนึ่งในแหล่งจับจ่ายยอดนิยมในใจคนท้องถิ่นและบรรดานักท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน นอกจากจะเป็นแหล่งรวมอาหารการกินประเภทขายฝากที่ใหญ่ที่สุดในหาดใหญ่แล้ว ยังเป็นตลาดแบบหมุนเวียนที่พ่อค้าแม่ค้าจะหมุนเวียนผลัดกันมาขายสินค้า โดยในช่วงเช้าจะเป็นตลาดสด อาหารการกินต่าง ๆ พอช่วงสายจะกลายเป็นตลาดขายสินค้าทั่วไป อาทิ เสื้อผ้า ขนม และของแห้ง ถือเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจมาก
แหลมสนอ่อน
อยู่บริเวณแหลมสมิหลา ร่มรื่นไปด้วยทิวสนทะเล บริเวณปลายแหลมเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล จังหวัดสงขลา ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอันเกี่ยวเนื่องกับการปกครอง ร่วมกับกองทัพเรือ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2530 เพื่อให้ชาวเรือได้สักการะบูชาก่อนออกไปประกอบอาชีพในทะเล บริเวณแหลมสนอ่อนมีประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ประติมากรรมพญานาคนี้แบ่งออกเป็นสามส่วนตั้งอยู่สถานที่ต่างกัน ส่วนหัวอยู่ที่แหลมสนอ่อน ส่วนลำตัวหรือสะดือพญานาคอยู่ที่แหลมสมิหลา ส่วนหางอยู่ที่ถนนชลาทัศน์-หาดสมิหลา จากแหลมสนอ่อนสามารถชมทัศนียภาพอันสวยงามของทะเลสาบสงขลา และมองเห็นเกาะหนูได้ใกล้และชัดที่สุด รอบ ๆ บริเวณมีที่นั่งพักผ่อนยามเย็นสำหรับประชาชน
วัดพะโคะ
วัดพะโคะ หรือวัดพระราชประดิษฐาน ตั้งอยู่หมู่ที่6 ตำบลชุมพร อำเภอสทิงพระ บริเวณเขาพัทธสิงค์ อยู่ห่างจากสงขลา48 กิโลเมตร เป็นวัดจำพรรษาของ สมเด็จพะโคะหรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งประชาชนให้ความนับถือเป็นอันมาก สร้างประมาณ พ.ศ.500 เล่ากันว่า วันหนึ่งมีโจรสลัดแล่นเรือเลียบมาตามฝั่ง เห็นสมเด็จพะโคะเดินอยู่มีลักษณะแปลกกว่าคนทั้งหลายจึงใคร่จะลองดี โจรสลัดจอดเรือและจับสมเด็จพะโคะไป เมื่อเรือแล่นมาได้สักครู่เกิดเหตุเรือแล่นต่อไปไม่ได้ ต้องจอดอยู่หลายวัน จนในที่สุดน้ำจืดหมดลงโจรสลัดเดือดร้อน สมเด็จพะโคะสงสาร จึงเอาเท้าซ้ายแช่ลงไปในน้ำทะเลเกิดเป็นประกายโชติช่วง น้ำทะเลกลายเป็นน้ำจืด โจรสลัดเกิดความเลื่อมใสศรัทธากราบไหว้ขอขมา และนำสมเด็จพะโคะขึ้นฝั่ง ตั้งแต่นั้นมาประชาชนจึงพากันไปกราบไหว้บูชากันเป็นจำนวนมาก
พระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำด้วยวัสดุสแตนเลส ตั้งอยู่เด่นเป็นสง่าบนยอดเขาคอหงส์ หมู่8 บ้านในไร่ ถนนปุณณกัณฑ์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ60 ปี และเพื่อเป็นศูนย์รวมใจสืบสารพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียม ประเพณีไทย การเผยแพร่พุทธประวัติและพุทธจริยวัตร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมาะสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้องค์พระประธานประจำวันเกิด เดือนเกิด และปีนักษัตรเกิดของตนเอง เพื่อเป็นแนวทางในการปฎิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์ และร่วมสืบสานพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือสืบไป โดยจะจัดให้ประชาชนทั่วไปร่วมทำบุญถวายสังฆทานทุกวันที่7, 17 และ27 ในเวลา10.20 น. ของทุกเดือน
การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข4 ผ่านประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช-ตรัง-พัทลุง-สงขลา รวมระยะทาง950 กิโลเมตร รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดบริการเดินรถระหว่าง กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทุกวัน ทั้งรถด่วนและรถเร็ว สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร.1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 หรือที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ โทร.0 7424 3705, 0 7423 8005
รถโดยสารประจำทาง
บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทาง กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ-สงขลาบริการทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ13 ชั่วโมง สอบถามเพิ่มเติมติดต่อขนส่งสายใต้ โทร.0 2435 1199-200 (ปรับอากาศ) และ โทร.0 2434 5557-8 (รถธรรมดา) หรือหาดใหญ่ ติดต่อบริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.0 7423 2789, 0 7423 2404 บริษัท ปิยะทัวร์ จำกัด โทร.0 7442 8972 บริษัท ไทยเดินรถ จำกัด โทร.0 7442 9525
เครื่องบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด และบริษัท แอร์เอเซีย จำกัด มีบริการเครื่องบินโดยสาร กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัทการบินไทย โทร.1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 หรือสำนักงานการบินไทยหาดใหญ่ โทร.0 7424 5851-2, 0 7423 3433 และบริษัทแอร์เอเซีย จำกัด โทร.0 2515 9999 หรือสำนักงานแอร์เอเซียหาดใหญ่ โทร.0 7425 0440
เทศกาลและงานประเพณี
งานเกษตรภาคใต้
จัดเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเป็นประจำทุกปี โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นงานที่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมการเกษตร ในงานมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น การจำหน่ายผลิตผลผลิตภัณฑ์การเกษตรจากจังหวัดภาคใต้ การประกวดผลิตผล การสาธิตต่าง ๆ
งานเทศกาลทำบุญเดือนสิบ
เป็นงานประเพณีของชาวไทยภาคใต้ เกิดจากความเชื่อที่ว่าช่วงแรม1-15 ค่ำเดือนสิบ วิญญาณของญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้วโดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้ไปเกิด จะได้รับการปลดปล่อย ให้มาพบญาติพี่น้องในเมืองมนุษย์ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะจัดหาอาหารต่างๆไปทำบุญตามวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ที่อำเภอสทิงพระจะจัดงานเทศกาลนี้แปลกไปจากที่อื่น คือมีการแห่หุ่นทองสูงเพื่อใช้แทนญาติหรือผู้อาวุโสที่เป็นที่นับถือของชาวบ้าน
งานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว
จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันแรม 1 ค่ำ เดือน11 ประมาณเดือนตุลาคม ณ อำเภอเมือง พิธีจะเริ่มก่อนวันงานด้วยการห่มผ้าพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน ในวันงานเวลาเช้าจะเป็นพิธีตักบาตรเทโวบริเวณเชิงเขาตังกวน พระสงฆ์หลายร้อยรูปจะเดินลงมาจากเขาตังกวนเพื่อรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชน ตอนสายจะมีเรือพระจากวัดต่างๆในเขตจังหวัดสงขลาเคลื่อนผ่าน ให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมทำบุญและลากพระ ตามความเชื่อที่ว่าจะได้บุญกุศลสูง เรือพระจะมารวมกันที่บริเวณสระบัวเพื่อร่วมประกวดการตกแต่งเรือพระ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย
โรงแรมที่พักที่น่าสนใจในสงขลา
โรงแรม พาวิลเลี่ยม
โรงแรมราชมังคลา พาวิลเลียน บีช
No comments:
Post a Comment