จากกงสี รุ่นสู่รุ่น โก
คอลัมน์ หนึ่งคิดหนึ่งทำ โดย สันติ โยนกพันธ์, ชนายุส ตินารักษ์
บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ของประเทศไทย ครองส่วนแบ่งตลาดที่มีขนาดกว่าหมื่นล้านบาทต่อปีถึงร้อยละ 80 ธุรกิจโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ฯ แบ่งเป็นเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, มัลติเพล็กซ์ อีจีวี, พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และเอสพละนาด ซีนีเพล็กซ์ รวมกันกว่า 45 สาขาจำนวนราว 400 โรง ความจุกว่า 80,000 ที่นั่ง มีโบว์ลิ่งมากกว่า 520 เลน คาราโอเกะราว 380 ห้อง ลานสเกตน้ำแข็ง 1 แห่ง และพื้นที่เช่าประมาณ 30,000 ตารางเมตร ตระกูลพูลวรลักษณ์ผู้ก่อตั้งเครือเมเจอร์ฯ เติบโตมาพร้อมกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ ปัจจุบันและอนาคตยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ และมีบทบาทร่วมสร้างยุคสมัยของอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ไทยอย่างภาคภูมิ
สั่งสมประสบการณ์ผ่านยุคกงสี
ภาพยนตร์เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.2436 ปีที่ โทมัสอัลวา เอดิสัน ประดิษฐ์ภาพยนตร์ ซึ่งเผยแพร่ด้วยเครื่องดูชื่อ "คิเนโตสโคป" ลักษณะเป็นตู้ให้ผู้ชมหยอดเหรียญลงในรูเพื่อเดินเครื่องแล้วแนบตาดูที่ช่องดูทีละคน ต่อมา พ.ศ.2438 2 พี่น้องตระกูลลูมิแอร์ "ออกุส และลุยส์ ลูมิแอร์" ได้พัฒนาเป็นภาพยนตร์ชนิดฉายขึ้นจอได้สำเร็จ และฉายครั้งแรกโดยเช่าห้องใต้ถุนร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีส หลังจากนั้น พ.ศ.2440 มีการฉายภาพยนตร์ในรูปแบบของมหรสพครั้งแรกในเมืองไทย ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ตำบลประตูสามยอด กรุงเทพฯ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ไทยเริ่มต้น ณ พ.ศ.นั้น
ช่วงแรกโรงภาพยนตร์ดัดแปลงจากโรงละคร อาทิ เฉลิมละคร คลองถม สี่แยก เอส เอ บี, นิยมไทย เวิ้งนาครเขษม และเฉลิมธานี นางเลิ้ง เป็นต้น ต่อมาจึงสร้างโรงภาพยนตร์เพิ่มเติมเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่แบบโรงภาพยนตร์เดี่ยว (stand alone) บรรจุผู้ชมประมาณ 250-1,000 ที่นั่ง ฉายวันละประมาณ 4 รอบ ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ทั้งนี้ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ที่สร้างขึ้นฉลอง 150 ปีกรุงรัตนโกสินทร์เป็นสัญลักษณ์ของยุคโรงภาพยนตร์เดี่ยว ความรุ่งเรืองของโรงภาพยนตร์ยุคนี้อยู่ในช่วง พ.ศ.2470-2522 ยาวนานถึง 52 ปี
ภาพรวมทั่วไปแบ่งเป็นโรงภาพยนตร์ ชั้นหนึ่งและชั้นสอง ทั้งยังแบ่งตามสัญชาติของหนังที่ฉาย เช่น หนังฝรั่ง หนังอินเดีย หนังจีน และหนังไทย ในยุคนั้นหลายพื้นที่ มีโรงภาพยนตร์หลายโรงตั้งอยู่ใกล้กัน เช่น ถนนเจริญกรุง, ย่านวังบูรพา, ถนนเยาวราช และสยามสแควร์ เป็นต้น
ตระกูลพูลวรลักษณ์สั่งสมประสบการณ์ธุรกิจโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคนี้ นั่นคือ พ.ศ.2504 ซึ่งช่วงนั้นตระกูลพูลวรลักษณ์รุ่นพ่อ 4 พี่น้อง คือ เจริญ, จำเริญ,เกษม และจรัล ร่วมกันบริหารโรงภาพยนตร์โรงแรกของตระกูล คือ ศรีตลาดพลู เป็นโรงหนังเก้าอี้ไม้ ติดพัดลม ราคาตั๋วหนังใบละ 2 บาท ก่อนขยายตัวไปยังจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯ คือ เมโทร เพชรราม่า และแมคเคนน่า ภายใต้การบริหารของบริษัท โก-บราเดอร์ จำกัด (CO-BROTHER)
ทั้งนี้คำว่า CO หมายถึงแซ่โกว ซึ่งเป็นแซ่ของตระกูล และหมายถึงความร่วมมือ โลโก้ของโก-บราเดอร์เป็นภาพมือ 4 ข้างจับกัน ปีที่เปิดโรงหนังศรีตลาดพลูเป็นปีเดียวกับที่วิชัยลูกของเจริญเกิด และหลังจากนั้นไม่กี่ปี วิชาลูกของจำเริญก็ลืมตาดูโลก
เหตุปัจจัยดังกล่าวทำให้ชีวิตในวัยเด็กของวิชัยและวิชาคลุกคลีอยู่กับโรงหนัง เป็นลูกเถ้าแก่ตัวน้อยที่ทำธุรกิจแวดล้อม โรงภาพยนตร์ตั้งแต่ในวัยเด็ก ขายน้ำ ขายขนมร่วมกับบรรดาญาติๆ รุ่นเล็กโรงหนังพักรอบทีขายดีที บรรดาญาติผู้ใหญ่ล้วนทำงานกับโรงหนังเจริญเป็นผู้จัดการโรง จำเริญและเกษมฉายหนัง ฝ่ายผู้หญิงเป็นคนขายบัตร พอโรงหนังขยายมากขึ้น เจริญพัฒนาเป็นแผนกก่อสร้าง จำเริญเป็นฝ่ายบริหารคอยจัด รอบฉายเรื่องอะไรฉายเมื่อไหร่
ธุรกิจโรงภาพยนตร์ของกงสีโก-บราเดอร์ขยายครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และธนบุรีมีโรงภาพยนตร์ประมาณ 50 โรง จากนั้นประมาณปี 2527 จำเริญได้แยกตัวออกมาในลักษณะแม่น้ำแยกสายไผ่แยกกอเพื่อขยายตัวเติบใหญ่ โดยก่อนหน้านั้นมีสัญญาณแสดงถึงการตกต่ำของโรงภาพยนตร์เดี่ยวแบบดั้งเดิมตั้งแต่ พ.ศ.2522 สถานการณ์ทั่วไปคือ โรงภาพยนตร์ประเภทนี้ได้รับความนิยมลดลง เพราะมีวิดีโอและโรงภาพยนตร์ในศูนย์การค้าเข้ามาแข่งขัน
สร้างยุคมินิเธียเตอร์และมัลติเพล็กซ์
ในระยะเริ่มต้นที่โรงภาพยนตร์แบบมินิเธียเตอร์ซึ่งเป็นยุคที่สองของธุรกิจโรงภาพยนตร์เกิดขึ้น จำเริญ พูลวรลักษณ์ มีส่วนร่วมสร้างยุคนี้ เขาเป็นผู้บุกเบิกโรงภาพยนตร์มินิเธียเตอร์ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ต้นทุนต่ำลงเพราะมีขนาดเล็ก ความจุไม่ถึงพันที่นั่ง ส่วนมากสร้างในธุรกิจศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ยุคที่สองมีช่วงเวลาสั้นๆ จาก พ.ศ.2523-พ.ศ.2536 ที่เป็นช่วงรุ่งโรจน์ของมินิเธียเตอร์กับแนวคิดวันสต็อปช็อปปิ้ง
แนวทางธุรกิจของมินิเธียเตอร์ (minitheater) คือรวมโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก 4-6 โรงไว้ในศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าแห่งเดียวกัน แต่ละโรงมีที่นั่งประมาณ 250-300 ที่นั่ง บริหารจัดการให้ฉายภาพยนตร์ได้หลายเรื่อง และหลายรอบต่อวัน มีการเพิ่มรอบฉาย ในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 5-10 ล้านบาทต่อโรง ระยะคืนทุนประมาณ 2-3 ปี โรงภาพยนตร์ประเภทนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามการเจริญเติบโตของห้างสรรพสินค้าที่เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยและมีที่จอดรถพร้อม
แต่อิทธิพลของระบบโลกาภิวัตน์ก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงภาพยนตร์และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย นั่นคือช่วงที่บิลล์ คลินตัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้มีนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐ ดังนั้นสหรัฐจึงต่อรองให้รัฐบาลหลายๆ ประเทศ รวมทั้งรัฐบาลไทยให้การควบคุมเรื่องลิขสิทธิ์วิดีโอเทปภาพยนตร์ รวมทั้งต่อรองเรื่องการลดภาษีนำเข้าภาพยนตร์จากสหรัฐ
ผลลัพธ์สำคัญที่เกิดขึ้นคือใน พ.ศ.2536 คณะกรรมการพิกัดอัตราภาษีศุลกากรมีมติให้ลดภาษีนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ที่ถ่ายทำแล้วในต่างประเทศ จากอัตราเดิมเมตรละ 30 บาทเหลือเมตรละ 10 บาทต่อเรื่อง เท่ากับลดลงเหลือ 1 ใน 3 ทั้งนี้โดยเฉลี่ยภาพยนตร์ความยาว 2 ชั่วโมงมีความยาวฟิล์มประมาณ 3,000 เมตร เท่ากับเสียภาษีเรื่องละราว 90,000 บาท เมื่อลดภาษีแล้วจึงเสียภาษีเพียง 30,000 บาทต่อเรื่อง มีผลให้ภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉายมากขึ้น ในขณะที่คนชอบดูภาพยนตร์ มักเข้าโรงภาพยนตร์มากกว่าร้านเช่าวิดีโอ ผลต่อเนื่องคือในช่วงปีนั้นมีโรงภาพยนตร์เปิดใหม่เพิ่มขึ้นราว 100 โรง
ที่พิเศษคือ พ.ศ.2537 วิชัยและวิชา ลูกพี่ลูกน้องแห่งตระกูลพูลวรลักษณ์ ได้บุกเบิกโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์ อีจีวี และซีนีเพล็กซ์เมเจอร์ ซึ่งมาจาก cinema บวก complex จนกลายเป็นการสร้างยุคสมัยที่สามของโรงภาพยนตร์ที่เป็นรูปแบบ stand alone แบบโรงหนังขนาดใหญ่แต่มีหลายโรงอยู่รวมกัน พรั่งพร้อมด้วยบริการร้านค้า ร้านอาหาร บริการอื่นๆ และที่จอดรถ
"รวมร่าง" เพิ่มพลังโรงหนัง "พูลวรลักษณ์"
บทเรียนแห่งโรงภาพยนตร์ยุคที่สาม ซึ่งวิชา พูลวรลักษณ์ มีส่วนสำคัญในการ บุกเบิกยุคสมัยนั้นประยุกต์ประสบการณ์จากต่างประเทศ ที่โรงหนังอยู่นอกศูนย์การค้า ทำให้เวลาเปิดปิดไม่ต้องขึ้นกับศูนย์การค้า ความสะดวกของผู้เข้าชมภาพยนตร์มีมากขึ้น
ดังนั้นเมื่อห้างเวลโก้ปิ่นเกล้าถูกไฟไหม้จึงเป็นโอกาสเหมาะที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์สาขาปิ่นเกล้าเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จอย่างดี ประหนึ่งนกฟีนิกซ์ที่ชุบชีวิตใหม่ขึ้นจากเปลวไฟ
หลักใหญ่ 3 ประการที่ทำให้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ปิ่นเกล้าประสบความสำเร็จคือ ทำเลดีเหมาะสม โรงภาพยนตร์ดี มีเทคนิคภาพและเสียงสมัยใหม่ และภาพยนตร์ดีมีคุณภาพ
จากนั้นเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ขยายสาขาเพิ่มที่สุขุมวิทกับรัชโยธิน โดยปัจจัยทำเลดีเป็นเรื่องนำอยู่เหมือนเดิม ปัจจัยสำคัญต่อมาคือ การออกแบบตกแต่งภายในโรงหนังที่เหมาะเจาะทั้งร้านค้าและโรงภาพยนตร์ และไม่เหมือนกับที่ปิ่นเกล้า ต่อมาบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 ทำให้เพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างมาก
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญแบบก้าวกระโดดของเมเจอร์ฯคือ การควบรวมกิจการเข้ากับบริษัท อีจีวี เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นธุรกิจของตระกูล พูลวรลักษณ์เช่นกัน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในธุรกิจโรงภาพยนตร์ ลดภาวะการแข่งขัน และขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ถือว่าเป็น การ "รวมร่าง" สร้างพลังอันยิ่งใหญ่ให้โรงหนังของตระกูลพูลวรลักษณ์อย่างได้ผลยิ่ง
การรวมตัวกันดังกล่าวเหมือนหวนคืนสู่อดีตตำนานแห่งกงสีโก-บราเดอร์ แต่ครั้งนี้ยิ่งใหญ่กว่าเดิมเพราะแนวคิดธุรกิจไม่ได้ตีกรอบเฉพาะโรงภาพยนตร์ หากเกี่ยวข้องกับ out home entertainment ของลูกค้าที่หมายถึงการออกไปหาประสบการณ์และไปเจอคน ไม่ใช่ไปดูหนังที่ไหนก็ได้เพราะโรงภาพยนตร์แต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน
โรงหนัง 50 โรง กับโรงหนังหลายร้อยโรง การขายน้ำขายขนมเมื่อพักรอบฉายแตกต่างกับบริการต่างๆ ที่แวดล้อมเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ในปัจจุบัน บุคลากรและระบบบริหารจัดการที่สอดคล้องกับขนาดและลักษณะของธุรกิจมีการพัฒนาไปควบคู่กัน และนั่นคือนัยสำคัญของเมเจอร์ Committee ที่สอดคล้องกับ ยุคสมัยเช่นเดียวกับบทบาทของกงสี โก-บราเดอร์ในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องห้อมล้อมแกนกลางคืออุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ ประกอบด้วยธุรกิจจัดจำหน่ายภาพยนตร์ วีซีดีและดีวีดี, บริการโฆษณาและสนับสนุนธุรกิจ, โบว์ลิ่งและคาราโอเกะ, อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งพื้นที่ให้เช่าและบริการ ทั้งหมดนี้สร้างจุดแข็งให้เมเจอร์ กรุ๊ป ขณะเดียวกันก็ต้องการทีมงานที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
เสริมทัพขุนพล
ท่ามกลางการขยายเครือข่ายธุรกิจของเมเจอร์ วิชา พูลวรลักษณ์ ผู้บุกเบิกอาณาจักรนี้ได้เพิ่มขุนพลมาเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่น อรวรรณ กอวัฒนา ซึ่งโยกย้ายมาจาก บริษัทแมคไทย เข้ามารับตำแหน่งรอง กรรมการผู้อำนวยการ chief service operation รับผิดชอบในส่วนงานบริการของธุรกิจโรงภาพยนตร์
อาทร เตชะตันติวงศ์ ย้ายมาจากเอไอเอสเข้ารับตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ chief bowling business ดูแลธุรกิจโบว์ลิ่งทั้งหมดของเครือเมเจอร์ และอนวัช องค์วาสิฎฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่ช่วยวางแผนและประสานงานกับพันธมิตรในเครือเมเจอร์ ด้วยประสบการณ์ที่เคยทำการตลาดให้แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และแฟชั่นไอส์แลนด์มาก่อน
วิชา พูลวรลักษณ์ ยังก้าวออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร หรือ CEO โดยมีกฤษณัน งามผาติพงศ์ อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้ามารับตำแหน่ง CEO แทนวิชาเป็นคนแรก หลังจากที่เข้ามาพัฒนาเติมเต็มระบบไอทีให้กับอาณาจักรของเมเจอร์
CEO คนต่อไปคือ ปณิธาน เศรษฐบุตร อดีตผู้บริหารจากยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ทั้งนี้ปณิธานได้เข้าร่วมงานใน "เมเจอร์ ซีนีแอด" ธุรกิจในเครือเมเจอร์ กรุ๊ปมาก่อน
จุดสำคัญที่วิชาลุกจากเก้าอี้ CEO คือ เขาต้องการกระตุ้นให้เกิด team leadership ผ่านการทำงานร่วมกัน โดยวิชามี format เพื่อให้แน่ใจว่าทีมงานคุยเรื่องเดียวกัน ทิศทางเดียวกัน เช่น ตัวเลข เป้าหมายในรูปแบบเดียวกัน ระดับความพอใจของลูกค้า อัตราการเติบโต อัตราผลตอบแทน และมาตรวัดผลการทำงานอื่นๆ ล้วนกำหนดเป็น format
นอกจากนี้ยังมีผลให้ชั่วโมงการประชุมลง วิชามีโอกาสใช้เวลาที่เหลือไปคิดไอเดียใหม่ๆ มากขึ้น และพัฒนาสร้างระบบที่ส่งเสริมเปิดทางให้ทีมงานเกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของเมเจอร์ให้ก้าวไปตลอดเวลา
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ ตอน1 และ ตอน2
http://corporate.majorcineplex.com/TH/main.php
No comments:
Post a Comment