4 วัสดุกันร้อน สำหรับบ้านเมืองไทยที่ทุกบ้านควรมี
เมืองไทยเมืองร้อน ต้องกันร้อน! ไม่ต้องรอหน้าร้อน บ้านเราก็ร้อนตลอดทั้งปี อยากจะหลบร้อนเข้าบ้าน บางทีก็เจอบ้านที่ร้อนกว่าอีก มาหาทางทำให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านเย็นสบาย ถ้าแก้ไม่ทันที่ดีไซน์หรืองานออกแบบเริ่มต้น ก็มาใช้ วัสดุกันร้อน เป็นผู้ช่วยกันดีกว่า
4 วัสดุกันร้อน สำหรับบ้านเมืองไทยที่ทุกบ้านควรมี
1. ฉนวนกันความร้อน คิดถึงความร้อน อันดับแรกสุดก็ต้องคิดถึงฉนวนกันความร้อน นั่นก็เพราะพื้นที่ของบ้านที่รับรังสีจากแสงอาทิตย์เต็มๆ และโดยตรงตลอดทั้งวันนั่นก็คือหลังคาบ้าน บ้านที่ไม่ได้ติดตั้งฉนวนกันความร้อน ความร้อนจากแสงอาทิตย์ก็จะกระจายตัวลงสู่บ้านเต็มๆ บางครั้งก็อบอวนไม่ออกไปไหน ทางแก้เริ่มต้นที่ได้ผลที่สุดจึงเป็นการติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา เพื่อลดปริมาณความร้อนที่เข้าสู่ภายในตัวบ้าน
แบบที่ง่ายที่สุดและนิยมกันมาก นั่นคือฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น เพราะติดตั้งภายหลังได้ง่าย ซึ่งฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นก็มีหลายชนิดให้เลือกตามข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป หากแต่เรื่องที่สำคัญไม่แพ้ชนิดของฉนวนกันความร้อน นั่นคือตำแหน่งที่ติดตั้ง เพราะการติดในแต่ละส่วนของหลังคาให้ผลลัพธ์ต่างกันไป แต่หากบ้านทั้งหลังเสร็จเรียบร้อยแล้ว การติดตั้งที่ทำได้สำหรับแบบแผ่นคือติดตั้งไว้เหนือฝ้าเพดาน แต่ต่อเนื่องจากใต้ฝ้าเพดานจำเป็นต้องติดตั้งชายคาแบบระบายความร้อน เพื่อระบายความร้อนสะสมออกไปให้หมด
ฉนวนกันความร้อนอีกชนิดที่ทำได้ง่าย คือฉนวนกันความร้อนแบบพ่น ชนิดเซรามิกสะท้อนความร้อนซึ่งสามารถพ่นทับบนผิวหลังคาได้เลย มีคุณสมบัติทั้งกันความร้อนและการรั่วซึมของน้ำฝนเพิ่มขึ้นอีกสเต็ป
2.พื้นกระเบื้อง หินธรรมชาติ ในบ้าน อีกส่วนที่ดูดซับความร้อนได้ดีนั่นคือพื้น คุณสมบัติของพื้นที่ช่วยให้บ้านเย็นจึงจำเป็นต้องระบายความร้อนให้ดี และวัสดุที่ตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีก็คือ กระเบื้องและหินธรรมชาติ นั่นก็เพราะพื้นผิวที่เป็นรูพรุน ช่วยรักษาความเย็นของพื้นดิน และคายอากาศร้อนออก สัมผัสจากเท้าของเรากับพื้นกระเบื้องหรือหินธรรมชาติจึงช่วยให้เรารู้สึกเย็นอยู่ตลอด
ในส่วนกระเบื้อง สามารถใช้งานได้หมดทั้งกระเบื้องเซรามิก กระเบื้องแกรนิตโต้ กระเบื้องหินอ่อน และกระเบื้องดินเผา ส่วนหินธรรมชาตินั้น ก็เลือกได้ทั้งหินอ่อนและหินแกรนิต ส่วนเคล็ดลับประหยัดแบบไม่ต้องเปลี่ยนพื้นบ้านทั้งหลัง ก็คือเลือกเปลี่ยนเฉพาะในพื้นที่ส่วนที่ต้องใช้งานในเวลากลางวันบ่อยๆ เช่น ห้องนั่่งเล่น หรือห้องครัว
3.พื้นนอกบ้าน พื้นคอนกรีตเป็นแหล่งสะสมความร้อนชั้นดี สังเกตได้ว่า แม้จะเป็นตอนกลางคืน เราก็ยังได้รับไอร้อนจากพื้นคอนกรีต เพราะการดูดซับความร้อนในเวลากลางวัน และปลดปล่อยในเวลากลางคืน จึงแนะนำให้เลือกใช้วัสดุปูพื้นชนิดอื่นแทนการเทคอนกรีตถมทั้งหมด เช่น บล็อกปูพื้น หรือแผ่นหญ้าเทียม ก็ช่วยลดการสะสมความร้อนทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน
4. ฟิล์มกรองแสง อีกพื้นผิวที่รับแสงแดดโดยตรงเต็มๆ นั่นคือกระจก ดังนั้น ฟิล์มกรองแสงสำหรับกระจกบ้าน นอกจากจะสามารถกรองแสงแดดแรงจากนอกบ้านให้เข้าถึงบ้านได้น้อยลงแล้ว ต้องสามารถลดความร้อนและรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตจากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของความร้อนได้อีกด้วย
การเลือกฟิล์มกรองแสงจึงควรเลือกประเภทฟิล์มโลหะ เพราะมีการเคลือบชั้นโลหะไว้บนผิวของฟิล์มเพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการป้องกันรังสี ซึ่งแตกต่างจากฟิล์มย้อมสีแบบธรรมดา ซึ่งกรองได้เฉพาะความสว่างของแสง แต่ไม่มีคุณสมบัติในเรื่องการป้องกันความร้อนและรังสีต่างๆ
No comments:
Post a Comment